วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550
คอบร้าโกลด์ (อังกฤษ: Cobra Gold ตัวย่อ CG) เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคีโดยมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
วัตถุประสงค์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ คือ ปรับปรุงการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการฝึก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในภูมิภาค การตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการฝึกร่วม/ผสมนี้
ประวัติ
หลังสงครามโลกครั้งที่สองและในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งสองประเทศได้เริ่มมีการฝึกทางทหารร่วมกันในปี พ.ศ. 2499 เป็นการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ
ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากขึ้น กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เริ่มการฝึกร่วม/ผสมภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" ในปี พ.ศ. 2525 ครั้งนั้นกองทัพเรือไทยและกองทัพอากาศไทยจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกโดยดำเนินการฝึกปฏิบัติการทางเรือ ทางอากาศ และการยกพลขึ้นบก ร่วมกับกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา กำหนดรหัสว่า "คอบร้าโกลด์ 82"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กองทัพบกไทยได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้งสามเหล่าทัพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นกองบัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารับผิดชอบดำเนินการฝึกคอบร้าโกลด์ 86 ในปี พ.ศ. 2529 โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ และดำเนินการฝึกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน มีกำลังจากกองทัพไทยทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกหมุนเวียนไปตามกองทัพภาคและกองเรือภาค ในปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อสงครามเย็นยุติลง สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย พ.ศ. 2543 การฝึกคอบร้าโกลด์จึงได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ มีการขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น